แนะนำการเดินกล้องถ่ายทำจริงในงานภาพยนตร์
ในที่สุดก็ถึงวันถ่ายทำ และคุณพร้อมสร้างผลงานตาม Shot List อย่างมืออาชีพแล้ว เรียนรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของการเดินกล้องถ่ายทำจริง รวมถึงศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมทำงานอย่างราบรื่นในทุกๆ วันที่กองถ่าย
การเดินกล้องถ่ายทำจริงคืออะไร
การเดินกล้องถ่ายทำจริง (Principal Photography) เป็นขั้นตอนลงมือสร้างสรรค์ผลงานในการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นก่อนและหลังการถ่ายทำ ในขั้นนี้ นักแสดงจะอยู่ที่กองถ่าย, ทุกคนได้รับ Call Sheet, มีการจัดแสงเรียบร้อยแล้ว และกล้องต่างๆ พร้อมสำหรับการถ่ายทำ การถ่ายทำเพียงอย่างเดียวที่ไม่นับรวมในการเดินกล้องถ่ายทำจริงคือ การถ่ายทำ B-roll ซึ่งมักจะถ่ายทำโดยทีมงานรองที่มีขนาดเล็กกว่า
วันแรกของการถ่ายทำนับเป็นจุดที่โปรดิวเซอร์และนักลงทุนจะไม่สามารถกลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว โปรเจกต์อาจถูกถอนการอนุมัติในขั้นตอนก่อนถ่ายทำได้ หากนักแสดงถอนตัวกลางคันหรือการจัดหาเงินทุนล้มเหลว แต่เมื่อการถ่ายทำเริ่มขึ้นจะไม่มีการเรียกทุนคืนได้เลยหากไม่ถ่ายทำให้สำเร็จ โดยการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาวมักใช้เวลาหนึ่งถึงสามเดือน แต่อาจใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของโปรเจกต์
หลักการถ่ายทำจริง
การถ่ายทำจริงเป็นขั้นตอนที่มีการลงมือทำงาน แต่ก็เป็นขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ที่ต้องใช้ทุนสูงที่สุดด้วย สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ คุณต้องควบคุมการผลิตอย่างเคร่งครัดตรงตามแผนที่กำหนดไว้ “ขั้นตอนการผลิตแตกต่างจากขั้นตอนอื่นๆ ของโปรเจกต์มาก เนื่องจากเวลาและความกดดัน” Margaret Kurniawan ผู้สร้างภาพยนตร์กล่าว “คุณต้องมองเวลาที่ใช้ในการถ่ายทำเป็นเงินเป็นทอง ไม่เหมือนกับขั้นตอนหลังการถ่ายทำที่คุณสามารถนั่งสบายๆ ลองใช้โน่นเล่นนี่เป็นเวลานานๆ ได้ ในกองถ่ายเป็นสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง คุณจึงต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด”
การถ่ายทำซ้ำสิ้นเปลืองทั้งเวลาและเงิน ดังนั้น ขั้นตอนก่อนการผลิตซึ่งใช้เวลาตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปีในภาพยนตร์เรื่องยาว จึงมีความสำคัญมากต่อผลสำเร็จในขั้นตอนการถ่ายทำและผลงานขั้นสุดท้าย แจกแจงค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำแต่ละช็อตให้ละเอียดที่สุด ออกแบบภาพ CGI หรือเอฟเฟกต์พิเศษร่วมกับ Concept Artist ล่วงหน้า และวางแผนฟุตเทจเพิ่มเติมต่างๆ ที่คุณอาจจำเป็นต้องถ่ายเผื่อไว้ เพราะเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตัดต่อ เกินย่อมดีกว่าขาด
“หลักการคือการถ่ายทำควรเป็นกระบวนการที่ราบรื่น ซึ่งอุปสรรคทั้งหมดต้องได้รับการแก้ไขในขั้นตอนก่อนการผลิต เพื่อที่ว่าเมื่อคุณเริ่มถ่ายทำ สิ่งที่ต้องทำมีเพียงดำเนินงานให้ทันตามกำหนดเวลา ถ่ายช็อตที่ต้องการ และเดินหน้าต่อไป” Hiroshi Hara ผู้สร้างภาพยนตร์กล่าวเสริม
วันธรรมดาทั่วไปในกองถ่าย
วันก่อนการถ่ายทำ ผู้ช่วยผู้กำกับหนึ่งหรือโปรดิวเซอร์จะแจกจ่าย Call Sheet
โดยทั่วไป ฝ่ายผลิตจะเป็นทีมงานชุดแรกที่ไปถึงกองถ่าย เนื่องจากมีหน้าที่เตรียมฉาก ทีมงานจัดแสงก็มักจะมีเวลานัดหมายเร็วกว่าเช่นเดียวกัน ขณะที่ทั้งสองทีมงานนี้ทำงานอยู่ ทีมนักแสดงจะเตรียมตัวร่วมกับทีมแต่งหน้าและทีมเสื้อผ้า เมื่อจัดฉากพร้อมแล้ว ทีมงานจะทดสอบการจัดแสงจากตัวแสดงแทนนักแสดงจริงๆ ที่เรียกว่าสแตนด์อิน ซึ่งช่วยให้ทีมงานทำการปรับปรุงแก้ไขฉากและการจัดแสงก่อนนักแสดงนำจะมาถึงได้
การทดสอบดังกล่าวนับว่ามีประโยชน์มากหากคุณทำงานร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่นักแสดงหรือร่วมกับธุรกิจต่างๆ “คุณต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดเตรียมและทดสอบการจัดแสง เสียง และกล้องด้วยสแตนด์อิน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น" Kurniawan แนะนำ การเตรียมพร้อมล่วงหน้ายังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คุณเมื่อต้องกำกับผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับคำสั่งและการอยู่หน้ากล้อง
เนื่องจากกองถ่ายต่างๆ มีสภาพแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น อุปกรณ์แสงหนักๆ สายไฟจำนวนมาก และองค์ประกอบอันตรายอื่นๆ ในทุกๆ วันจึงควรเริ่มต้นด้วยการประชุมด้านความปลอดภัย โดยต้องสรุปคร่าวๆ ให้ทุกคนทราบจุดที่ควรระมัดระวังในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดง เพราะไม่มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ ในกองถ่าย และเมื่อประชุมด้านความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาดำเนินการถ่ายทำ
“ไม่ว่าผู้กำกับจะต้องการถ่ายทำกี่ช็อตก็ตาม กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นซ้ำไปเรื่อยๆ บางครั้งก็จะมีการรีเซ็ตฉากใหม่ทั้งหมด เช่น การเปลี่ยนสถานที่ ในกรณีนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนการจัดแสง เสื้อผ้า เลนส์ และอื่นๆ ที่จำเป็นใหม่ ในขณะที่ผู้กำกับปรึกษากับผู้กำกับภาพถึงวิธีการถ่ายทำในซีนต่อไป” Hara กล่าว เมื่อหมดวัน นักแสดงและทีมงานจะแยกย้ายกันไปเตรียมพร้อมดำเนินการถ่ายทำใหม่อีกครั้งในวันถัดไป
ในวันสุดท้ายของการถ่ายทำจะมีการจัด “งานเลี้ยงปิดกล้อง” ตามธรรมเนียมเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในขั้นตอนการผลิต
บทบาทต่างๆ ในการสร้างภาพยนตร์
โปรเจกต์เล็กๆ จะไม่มีผู้มีส่วนร่วมในการผลิตมากเท่าภาพยนตร์เรื่องยาว ผู้สร้างภาพยนตร์ทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จควรสนใจทำความรู้จักกับบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในทีม เมื่อคุณทราบถึงวิธีดำเนินงานในกองถ่ายชุดใหญ่แล้ว คุณจะสามารถลดขนาดทีมงานของคุณสำหรับโปรเจกต์ขนาดเล็กกว่าได้
โปรดิวเซอร์
โปรดิวเซอร์ (Producer) จะซื้อบทภาพยนตร์และจัดหาเงินทุนสำหรับการถ่ายทำ คุณอาจคิดว่าโปรดิวเซอร์เป็นผู้อำนวยการด้านโลจิสติกส์ก็ได้ โดยมีหน้าที่ว่าจ้างบริษัทผลิตภาพยนตร์ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างสมาชิกทีมงานทั้งหมดในทีมฝ่ายผลิตอีกทอดหนึ่ง ในทีมนี้จะมีไลน์โปรดิวเซอร์ (Line Producer) เป็นผู้ว่าจ้างและกำหนดเงินเดือนของทีมงาน และผู้จัดการหน่วยการสร้าง (Unit Production Manager) ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลด้านโลจิสติกส์ในแต่วันของกองถ่าย
ผู้กำกับ
ผู้กำกับ (Director) รับผิดชอบในด้านการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ทั้งหมด รวมถึงทำงานร่วมกับนักแสดงและทีมงานเพื่อทำให้ภาพที่ออกแบบและจินตนาการไว้เป็นจริง ในการผลิตขนาดเล็ก ผู้กำกับมักควบหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ไปด้วยแทบทุกครั้ง
ผู้ช่วยผู้กำกับหนึ่ง
ผู้ช่วยผู้กำกับ (AD) หนึ่งหรือ First Assistant Director ขึ้นตรงกับผู้กำกับ เป็นผู้ช่วยเหลือผู้กำกับวางแผนกำหนดตารางการถ่ายทำและ Shot List โดยบทบาทนี้หรือผู้ช่วยกำกับสอง (Second AD) จะมีหน้าที่แจกจ่าย Call Sheet ในคืนก่อนการถ่ายทำ ซึ่ง Call Sheet คือตารางเวลาหลักที่สรุปว่าใครต้องอยู่ที่ไหนในเวลาใด โดยมารยาททั่วไป เราจะต้องส่ง Call Sheet ให้ผู้รับอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเวลานัดหมาย
ผู้กำกับภาพ
ผู้กำกับภาพ (Director of Photography หรือ DP) เรียกอีกอย่างว่า ช่างถ่ายภาพยนตร์ (Cinematographer) มีหน้าที่ควบคุมทีมงานช่างกล้อง ในงานใหญ่ๆ ผู้กำกับภาพไม่ได้ใช้กล้องจริงๆ แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลทีมกล้อง การใช้งานกล้องจริงๆ จะตกเป็นหน้าที่ของช่างกล้อง (Camera Operator)
ผู้ช่วยกล้องหนึ่ง
ผู้ช่วยกล้องหนึ่ง หรือ First Assistant Camera (AC) มีงานหลักหนึ่งเดียวคือการหมุนโฟกัส โดยมีหน้าที่ปรับวงแหวนโฟกัสบนกล้องเพื่อให้แต่ละช็อตอยู่ในโฟกัสและชัดเจนตลอดเทก
ผู้ช่วยกล้องสอง
ผู้ช่วยกล้องสอง (Second AC) ทำหน้าที่สับสเลตซึ่งบอกจุดเริ่มต้นของแต่ละเทก นอกจากนี้ยังจดบันทึกในระหว่างการถ่ายทำเพื่อช่วยให้ทีมงานมีข้อมูลตำแหน่ง อุปกรณ์ และการตั้งค่าเคยที่ใช้
ช่างควบคุมไฟ
ในฐานะหัวหน้าฝ่ายไฟฟ้า ช่างควบคุมไฟ (Gaffer) มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการจัดแสง รวมถึงปรึกษาร่วมกับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับเพื่อให้ออกแบบและดำเนินการตามแผนการจัดแสงในแต่ละซีน
ช่างคุมอุปกรณ์
ช่างคุมอุปกรณ์ (Grip) เป็นช่างที่รับผิดชอบตั้งค่าและคอยช่วยเหลือด้านกล้อง การทำงานกับอุปกรณ์ยึดจับ ตัวปรับแต่งแสง และดอลลีล้วนอาจเป็นส่วนหนึ่งในงานประจำวันของช่างคุมอุปกรณ์
นักมิกซ์เสียง
นักมิกซ์เสียง (Sound Mixer) ทำหน้าที่บันทึกและควบคุมเสียงทั้งหมดในกองถ่าย โดยทำงานควบคู่ไปกับนักออกแบบเสียง (Sound Designer), นักสร้างเสียง Foley (Foley Artist) และนักตัดต่อ (Editor) เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานในแต่ละช็อต ในสังกัดนักมิกซ์เสียงจะมีคนถือไมค์บูม (Boom Operator) ซึ่งมีหน้าที่หลักคือถือไมโครโฟนไว้เหนือศีรษะในขณะที่นักมิกซ์เสียงจะคอยตรวจสอบการบันทึก
ผู้ออกแบบงานสร้าง
ผู้ออกแบบงานสร้าง (Production Designer) คือหัวหน้าฝ่ายศิลป์ที่เป็นผู้กำหนดการออกแบบการผลิตส่วนใหญ่ ตั้งแต่การค้นหาสถานที่ ไปจนถึงการกำหนดจานสีและการจัดแสง โดยผู้จัดฉาก (Set Decorator), นักออกแบบและจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก (Prop Master), ช่างแต่งหน้า (Makeup Artist), นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume Designer) และผู้ช่วยงานสร้าง (Production Assistant) ล้วนทำงานร่วมกับผู้ออกแบบงานสร้างเพื่อทำให้ภาพยนตร์ออกมาตรงตามที่จินตนาการไว้
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อสร้างภาพยนตร์อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
วันถ่ายทำอาจยาวนานและยากลำบาก งานในแต่ละวันจะดำเนินไปอย่างราบรื่นได้ ตั้งแต่การนัดหมายครั้งแรกไปจนถึงงานเลี้ยงปิดกล้อง ก็ต้องอาศัยความพยายามมหาศาลของทีมงาน คำแนะนำบางส่วนต่อไปนี้จะช่วยคุณในการดูแลความปลอดภัยและความสะดวกสบายแก่นักแสดงและทีมงาน
จัดเตรียมโต๊ะบริการกาแฟ เครื่องดื่ม และของว่าง คุณไม่จำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทางให้มีพื้นที่สำหรับบริการอาหารและที่นั่งพัก แต่ควรเตรียมสิ่งที่จำเป็นเอาไว้ เช่น น้ำดื่มและของว่าง นักแสดงและทีมงานของคุณจะยินดีหากคุณจัดเตรียมสิ่งต่างๆ มาให้ เช่น ห้องน้ำ ที่จอดรถ หรือเต็นท์บังแดด นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่นักแสดงและลูกทีมที่ว่าจ้างจะจดจำได้ หากคุณต้องการร่วมงานกับพวกเขาอีกครั้ง สมาคมอย่าง The Screen Actors Guild กำหนดระเบียบข้อบังคับมากมายไว้สำหรับกระบวนการผลิตภาพยนตร์ เช่น คุณต้องได้พักรับประทานอาหารทุกๆ 6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้เวลาผลิตจริงเกิน 12 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานร่วมกับสมาชิก SAG แต่เป็นการดีที่สุดที่คุณจะนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้มาใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมนี้
แม้ว่าระหว่างการถ่ายทำฉากภาพยนตร์จะเป็นสภาพแวดล้อมที่มีการทำงานร่วมกันสูง แต่ภาระหน้าที่และบทบาทของแต่ละคนก็ไม่ควรทับซ้อนกัน ยกตัวอย่างเช่น ทีมกล้องไม่ควรเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ประกอบฉากใดๆ และหากคุณไม่ได้อยู่ในทีมงานจัดแสงก็อย่าแตะต้องอุปกรณ์แสง กองถ่ายเป็นสถานที่วุ่นวาย ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ขยับไปมาได้มากมาย ซึ่งมักจะอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดไว้แน่นอน หากแสง อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือชิ้นส่วนที่ติดตั้งอยู่ผิดที่แม้แต่องศาเดียว ก็อาจทำให้การถ่ายทำผิดพลาด และต้องถ่ายซ้ำในภายหลัง โฟกัสเฉพาะงานของคุณเพื่อหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาด “นี่ล่ะ วิธีช่วยให้การทำงานในกองถ่ายราบรื่น และดูแลผู้คนให้ปลอดภัย” Kurniawan กล่าว
มีเรื่องต่างๆ ให้ต้องทำมากมายไม่หวาดไม่ไหวเมื่อออกกอง แต่อย่ามองข้ามความจริงที่ว่าการถ่ายทำจริงเป็นช่วงเวลาที่คุณได้เห็นแผนที่วางไว้อย่างเข้มข้นในขั้นตอนก่อนการผลิตกลายเป็นจริงขึ้นมา อย่าลืมสนุกและมีความสุขไปกับกระบวนการดังกล่าวด้วย
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Premiere Pro
สร้างวิดีโอที่น่าทึ่งสำหรับภาพยนตร์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ได้เกือบทุกที่
และคุณอาจสนใจ...
ทำความเข้าใจช็อตต่างๆ ในภาพยนตร์
ศึกษาช็อตที่พบได้บ่อย รวมถึงเรียนรู้วิธีและช่วงเวลาที่ควรใช้ช็อตเหล่านี้เพื่ออรรถรสสูงสุด
เรียนรู้วิธีทำ Shot List เพื่อให้ทีมงานจัดเตรียมและตั้งค่ากล้องได้ตลอดทั้งวัน
เรียนรู้ว่าอุปกรณ์มากประโยชน์นี้สามารถช่วยให้คุณถ่ายฟุตเทจอันยอดเยี่ยมและไม่สั่นไหวได้อย่างไร
Establishing Shot มีความสำคัญมากเพราะจะช่วยบอกเราถึงสถานที่และมักบอกเวลาที่เกิดเหตุการณ์