ตอนไหนคือช่วงเวลา Golden Hour และจะถ่ายภาพในช่วงเวลานั้นได้อย่างไร
เรียนรู้วิธีตักตวงประโยชน์จากแสงอันอบอุ่นและนุ่มนวลในช่วงเวลา Golden Hour ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพมากที่สุดของวัน
ช่วงเวลา Golden Hour คืออะไร
ช่วงเวลาชั่วโมงสุดท้ายก่อนพระอาทิตย์ตกและชั่วโมงแรกหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นนั้นเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่ช่างภาพมืออาชีพ ช่วงเวลาเหล่านี้มีชื่อว่าช่วงเวลา “Golden Hour” หรือ “Magic Hour” ซึ่งมีแสงที่เหมาะที่สุดในการถ่ายภาพสวยๆ การเรียนรู้วิธีใช้ช่วงเวลา Golden Hour ให้เกิดประโยชน์ถือเป็นเครื่องมือที่ช่างภาพทุกคนสามารถนำไปใช้ได้
แสงคือหัวใจสำคัญ
ช่วงเวลา Golden Hour ขึ้นชื่อว่ามีแสงธรรมชาติที่ถ่ายภาพได้ง่าย โดยช่างภาพ Jenn Byrne อธิบายว่า “ส่วนต่างๆ ในภาพอย่างใบหน้าของตัวแบบจะมืดหรือสว่างจ้าเกินไปได้ยาก เนื่องจากแสงในช่วงเวลานี้สม่ำเสมอกันมากและมีสีทองงดงาม” ซึ่งมีสาเหตุจากสามปัจจัยหลักๆ ดังต่อไปนี้
แสงในช่วงเวลานี้นุ่มนวลกว่า
ช่วงเวลา Golden Hour ต่างจากช่วงเวลาอื่นๆ ของวันเนื่องจากแสงแดดไม่ได้ส่องลงมาโดยตรงแต่ส่องลงมาเป็นมุม ซึ่งเป็นการช่วยกระจายแสง ปกติแล้วแสงในลักษณะที่อ่อนลงนี้จะดูดีกว่าแสงทั่วไป “แสงอาทิตย์ที่ส่องตรงทำให้สีผิวดูซีด แต่แสงสีทองช่วยขับให้สีผิวสวยยิ่งขึ้นและยากที่จะถ่ายออกมาแล้วสว่างจ้า” Byrne อธิบาย
แสงในช่วงเวลานี้มีทิศทาง
พระอาทิตย์คล้อยต่ำในท้องฟ้าในช่วงเวลา Golden Hour จึงก่อให้เกิดเงาที่ทอดยาวและสภาวะแสงอันงดงามให้คุณใช้ถ่ายภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ คุณสามารถเลือกใช้เทคนิค Rim Lighting, Side Lighting, Silhouette, Sunburst และ Lens Flare ได้ทั้งสิ้นในช่วงเวลา Golden Hour
แสงในช่วงเวลานี้มีความอบอุ่น
แสงในช่วงเวลา Golden Hour นั้นอบอุ่นกว่าเมื่อเทียบตามสเปกตรัมอุณหภูมิสีของแสงหน่วย Kelvin โดยมีแสงสีเหลือง ส้ม และแดงเป็นจำนวนมาก ชั้นบรรยากาศจะกรองแสงสีฟ้าออกไปเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งใกล้ๆ เส้นขอบฟ้า โดยเหลือไว้ซึ่งสีต่างๆ ที่ผู้คนมักเชื่อมโยงเข้ากับความสุขและความอบอุ่น
เคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour
ช่างภาพต้องถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour แข่งกับเวลายิ่งกว่าช่วงไหนๆ ของวัน โดยช่างภาพ Tina Tryforos กล่าวถึงช่วงเวลา Golden Hour ว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบนาทีข้างหน้าจะต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปเมื่อสิบนาทีก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด” ช่วงเวลา Golden Hour เป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะผลุบหายไปใต้เส้นขอบฟ้าหรือเคลื่อนไปยังระดับที่ส่องแสงเจิดจ้ากว่าเดิมหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น “เช่นนี้จึงยิ่งจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า” ช่างถ่ายภาพภูมิทัศน์ Steve Schwindt แนะนำ “คุณต้องมีไอเดียในหัวก่อนว่าคุณอยากจะถ่ายอะไร” การดำเนินการตระเตรียมล่วงหน้าสามารถมีประโยชน์ได้อย่างมากเพื่อให้คุณถ่ายภาพได้ตามที่ต้องการ
วางแผนการถ่ายภาพ
สำรวจสถานที่ถ่ายภาพของคุณล่วงหน้าแล้วลองจินตนาการองค์ประกอบภาพขึ้นมาในหัวเพื่อให้คุณใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุดเมื่อช่วงเวลา Golden Hour มาถึง หากคุณไปสำรวจสถานที่ก่อนไม่ได้ คุณก็สามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้โดยการดูผลงานของช่างภาพคนอื่นๆ ที่ถ่ายภาพในสถานที่เดียวกันเพื่อดูว่ามีการถ่ายภาพแบบใดไปบ้าง
ใช้แอปช่วย
มีแอปที่สามารถบอกเวลาที่พระอาทิตย์ตกและแจ้งให้คุณทราบถึงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาหรือสถานที่ใดๆ ได้อย่างแม่นยำ การใช้ตัวคำนวณช่วงเวลา Golden Hour เหล่านี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องคอยคาดเดาได้ส่วนหนึ่งเมื่อถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour
ถ่ายภาพเยอะๆ
แสงเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกนาที รวดเร็วเกินกว่าที่คุณจะรู้ตัวขณะถ่ายภาพเสียอีก ถ่ายให้ได้หลายๆ เฟรมโดยถ่ายภาพถี่ขึ้นเพื่อการันตีว่าคุณจับภาพทุกการเปลี่ยนแปลงทัน ซึ่งจะช่วยให้คุณมีตัวเลือกไว้ใช้สำหรับทำงานภายหลังมากขึ้น
การถ่ายภาพในช่วงเวลา Blue Hour
หลังจากดวงอาทิตย์ลับฟ้า คุณจะได้พบกับ “ช่วงเวลา Blue Hour” ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังพระอาทิตย์ตกซึ่งเป็นเวลาที่สีน้ำเงินเข้มอาบไล้โลกตรงหน้า และไหนๆ คุณก็ออกมาถ่ายภาพข้างนอกแล้ว อยู่รออีกสักนิดเพื่อถ่ายภาพในช่วงเวลา Blue Hour สักสองสามภาพ
การถ่ายภาพในแสงที่มีทิศทางอาจเป็นเรื่องยาก
การหาความสมดุลระหว่างท้องฟ้าและบริเวณมืดๆ ในฉากอาจเป็นอะไรที่ทำได้ยากแม้จะถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour ก็ตามที การถ่ายภาพโดยหันเข้าหาดวงอาทิตย์โดยที่ตัวแบบหันหลังให้แสงจะส่งผลให้ภาพมีเอฟเฟกต์ย้อนแสงที่สวยงาม แต่ใบหน้าของตัวแบบของคุณจะตกอยู่ในเงา ซึ่งช่างภาพ David Green อธิบาย ว่า “แสงจะส่องไม่ถึงใบหน้าของตัวแบบนัก ดังนั้นหากคุณไม่ได้ปรับการเปิดรับแสงในกล้องให้เหมาะสม คุณก็อาจถ่ายไฮไลต์สวยๆ บนผิวของตัวแบบไว้ไม่ได้” โดยคุณสามารถใช้วิธีต่างๆ หลายวิธีในการรับมือกับปัญหานี้ ได้แก่
เพิ่มเงาและลดไฮไลต์ให้อ่อนลง
Green แนะนำให้ใช้ Adjustment Brush เพื่อเพิ่มเงาเฉพาะในส่วนต่างๆ การเพิ่มเงาและการลดไฮไลต์สามารถช่วยให้ส่วนที่สว่างที่สุดและส่วนที่มืดที่สุดในภาพกลับไปกลมกลืนกันอย่างสมดุลได้ เรียนรู้วิธีใช้ Shadow Clipping และ Highlight Clipping ใน Adobe Lightroom และวิธีใช้ Adjustment Brush ต่างๆ ใน Lightroom
ถ่ายภาพในโหมดรอว์
Schwindt อธิบายว่า “คุณจะแก้ไขและแต่งภาพได้ยากกว่าหากใช้ไฟล์ JPEG เพราะไฟล์ประเภทนี้มีข้อมูลน้อยกว่า” เมื่อพระอาทิตย์ตกและมีแสงน้อย การที่คุณสามารถแก้ไขเงาเข้มๆ ในส่วนของภาพที่เปิดรับแสงไม่เพียงพอได้นั้นจะยิ่งมีความสำคัญกว่าเดิม
ใส่ใจเกี่ยวกับ Dynamic Range
คุณจำเป็นต้องปรับค่าการเปิดรับแสงอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถเพิ่มแสงในขั้นตอนหลังการถ่ายภาพได้ นอกจากนั้นแล้วกล้องของคุณก็ยังต้องจับข้อมูลที่จำเป็นให้ได้ด้วย หากต้องการถ่ายภาพให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คุณควรใช้กล้องที่มี Dynamic Range สูง ซึ่งเป็นตัววัดว่ากล้องสามารถจับการเปิดรับแสงได้กี่สต็อปภายในหนึ่งเฟรม กล้องที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ที่สุดโดยทั่วไปแล้วจะเป็นกล้อง DSLR แบบฟูลเฟรม
ใช้ไฟลบเงา
แฟลชหรือแผ่นสะท้อนแสงสามารถช่วยเติมแสงในส่วนที่เป็นเงาบนใบหน้าตัวแบบของคุณเพื่อให้ได้แสงที่สว่างสม่ำเสมอกันยิ่งขึ้นได้ “การถ่ายภาพท้องฟ้าร่วมด้วยอาจทำได้ยากเนื่องจากแสงบนท้องฟ้าและแสงที่ตัวแบบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การใช้แฟลชช่วยลบเงาจึงสามารถพลิกโฉมภาพได้ ตัวบุคคลในภาพจะส่องประกายขึ้นมา” Tryforos แนะนำ
ถ่ายภาพเพื่อไปแต่งในภายหลัง
เครื่องมือในขั้นตอนหลังการถ่ายภาพจะเปิดประตูสู่โลกแห่งโอกาสมากมายในการถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour หากคุณประสบปัญหาในการถ่ายภาพที่ไฮไลต์สว่างจนขาวโพลน คุณก็สามารถตกแต่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถ่ายด้วยกล้องไม่สำเร็จได้ ซึ่งจะต้องอาศัยการคิดล่วงหน้ามากกว่าเดิม “จินตนาการว่าคุณต้องการให้ภาพถ่ายออกมาดูเป็นอย่างไร ภาพที่คุณจินตนาการขึ้นมาจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณต้องปรับแต่งอะไรบ้างในขั้นตอนหลังการถ่ายภาพ” Schwindt แนะนำ “ผมถ่ายภาพเพื่อนำมาแต่งในภายหลังเสมอ จึงจะคอยคิดว่าภาพถ่ายจะออกมาเป็นอย่างไรหลังจากที่ผมปรับสีทั้งหมดแล้ว” Green อธิบายเพิ่ม
เทคนิคหนึ่งที่ช่างภาพภูมิทัศน์ใช้กันคือการถ่ายภาพหลายๆ ภาพโดยใช้ค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกัน แล้วจึงรวมภาพถ่ายเข้าด้วยกันใน Lightroom โดย Schwindt อธิบายว่า “คุณสามารถนำภาพที่ถ่ายด้วยค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกันเข้าด้วยกันเพื่อรับมือกับท้องฟ้าที่สว่างจ้าเมื่อเทียบกับบริเวณด้านหน้าที่มืดกว่ากันได้” ลองดูบทช่วยสอนนี้เพื่อเรียนรู้วิธีรวมภาพถ่าย HDR เข้าด้วยกันใน Adobe Photoshop
เรียนรู้วิธีขับสีสันของพระอาทิตย์ตกให้โดดเด่นด้วยการควบคุมอุณหภูมิ ทินต์ และความเข้มในภาพถ่ายของคุณ
“แสงอาทิตย์ที่ส่องตรงๆ ในช่วงเวลา Golden Hour อาจส่งผลให้ผิวมีสีค่อนข้างส้ม ฉันเลยชอบภาพถ่ายย้อนแสงเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพออกมาเป็นแบบนั้น” Byrne เล่า แต่หากคุณไม่อยากถ่ายภาพย้อนแสงในทุกๆ ภาพ การเรียนรู้วิธีแก้ไขโทนสีผิวโดยการปรับค่าต่างๆ จะช่วยให้คุณเลี่ยงปัญหานี้ได้ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งตัวเลือกด้านแสงในแบบต่างๆ ให้คุณสามารถเลือกใช้
การถ่ายภาพในช่วงเวลา Golden Hour ให้ออกมาดูดีนั้นมีข้อควรพิจารณามากมาย แต่การวางแผนล่วงหน้าเล็กๆ น้อยๆ และความรู้ความเข้าใจก็สามารถช่วยตัดความกังวลเหล่านี้ออกไปได้ คุณจึงสามารถถอยหลังออกมาแล้วดื่มด่ำไปกับแสงสวยๆ รอบตัวคุณอย่างเต็มที่
ผู้มีส่วนร่วม
ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย Adobe Photoshop Lightroom
แก้ไขรูปภาพอย่างง่ายดายด้วย Preset ของ Lightroom อย่างSuper Resolution แชร์ภาพถ่ายอย่างง่ายดายจากทุกอุปกรณ์ และเข้าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของคุณได้ทุกที่ด้วยการจัดการพื้นที่จัดเก็บภาพถ่ายบนระบบคลาวด์
และคุณอาจสนใจ...
สร้างภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
สำรวจวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างมีศิลปะพร้อมเคล็ดลับในการถ่ายภาพทิวทัศน์
สร้างสรรค์ภาพถ่ายบุคคลที่ยอดเยี่ยม
เข้าใกล้ภาพถ่ายบุคคลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นด้วยเคล็ดลับและคำแนะนำจากช่างภาพมืออาชีพ
สำรวจหลากหลายวิธีในการสร้างอาชีพจากการถ่ายภาพกีฬา ตั้งแต่การถ่ายทอดสดงานกิจกรรมไปจนถึงการถ่ายภาพแฟชั่น
เคล็ดลับการถ่ายภาพธรรมชาติทุกรูปแบบ
สำรวจความเป็นไปได้ในการถ่ายภาพธรรมชาติ ตั้งแต่สัตว์ที่กำลังเคลื่อนไหวไปจนถึงทิวทัศน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล
รับ Photoshop Lightroom
แก้ไข จัดระเบียบ จัดเก็บ และแชร์ภาพถ่ายได้จากทุกที่
ใช้งานฟรี 7 วัน หลังจากนั้น ฿380.92/เดือน (รวม VAT)