การถ่ายภาพ
PNG เทียบกับ SVG
หากคุณทำงานกับโลโก้และกราฟิกดิจิทัลคุณภาพสูง คุณควรลองบันทึกไฟล์ของคุณเป็น PNG หรือ SVG ทั้งสองเป็นรูปแบบไฟล์อเนกประสงค์ที่มีความละเอียดสูง แม้จะมีขนาดใหญ่ก็ตาม มาเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างหลักๆ ระหว่างไฟล์ PNG กับ SVG รวมถึงวิธีใช้ไฟล์แต่ละประเภท
https://main--cc--adobecom.hlx.page/cc-shared/fragments/seo-articles/get-started-notification-blade
ไฟล์ PNG คืออะไร
PNG (Portable Network Graphics) เป็นไฟล์แบบราสเตอร์ ไฟล์ประเภทนี้มีความละเอียดสูง ใช้การแบบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูล รองรับความโปร่งใส และสามารถรองรับสีได้ถึง 16 ล้านสี PNG จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับกราฟิก โลโก้ แผนภูมิ และภาพประกอบ รวมถึงภาพถ่ายที่มีรายละเอียดสูง แต่เนื่องจากไฟล์ PNG นั้นมีขนาดที่ใหญ่ จึงไม่เหมาะนักสำหรับภาพถ่ายออนไลน์
ไฟล์ SVG คืออะไร
Scalable Vector Graphics (SVG) เหมาะสำหรับโลโก้และกราฟิกเพราะคุณสามารถขยายหรือย่อขนาดรูปภาพเพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ SVG ยังเป็นตัวเลือกที่นิยมใช้ในการออกแบบเว็บอีกด้วยเพราะโปรแกรมค้นหาอย่าง Google สามารถอ่านภาษาโปรแกรม XML ของไฟล์ได้ ซึ่งจะช่วยในเรื่อง SEO และการจัดอันดับเว็บไซต์
SVG นั้นเป็นไฟล์เป็นแบบเวกเตอร์ ซึ่งจะต่างจาก PNG ไฟล์ประเภทนี้จะใช้อัลกอริธึมทางคณิตศาสตร์ในการแสดงรูปภาพ คุณจึงสามารถนำไฟล์ไปปรับให้มีขนาดเท่าใดก็ได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพ
ไฟล์ PNG และ SVG แตกต่างกันอย่างไร
ไฟล์ PNG และ SVG นั้นมีจุดร่วมกันมากมาย มาดูกันว่าไฟล์ทั้งสองประเภทนี้ต่างกันอย่างไร
ราสเตอร์กับเวกเตอร์
ความแตกต่างในระดับพื้นฐานที่สุดระหว่าง PNG กับ SVG ก็คือไฟล์หนึ่งเป็นประเภทไฟล์แบบราสเตอร์ ขณะที่อีกไฟล์เป็นแบบเวกเตอร์
ไฟล์ PNG เป็นไฟล์ภาพรูปแบบราสเตอร์ กล่าวอีกอย่างคือ เป็นไฟล์ภาพซึ่งเกิดจากพิกเซล หากคุณขยายรูปภาพแบบราสเตอร์ให้มีขนาดใหญ่จนเกินไป รูปภาพก็จะมีเกรนและแตกเป็นพิกเซล ในทางเดียวกัน หากรูปภาพมีขนาดเล็กเกินไป รูปภาพก็จะไม่ชัด แม้ว่าไฟล์ PNG จะสามารถรองรับความละเอียดได้สูงมาก แต่ก็ใช่ว่าจะขยายได้แบบไม่มีขีดจำกัด
ในทางกลับกัน ไฟล์ SVG เป็นไฟล์แบบเวกเตอร์ที่สร้างขึ้นจากเครือข่ายทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อนของเส้น จุด รูปทรง และอัลกอริธึม คุณจึงสามารถขยายรูปภาพให้มีขนาดเท่าใดก็ได้โดยไม่สูญเสียความละเอียด
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไฟล์แบบราสเตอร์เมื่อเทียบกับไฟล์แบบเวกเตอร์
ขนาดไฟล์
ไฟล์ PNG มักจะมีขนาดใหญ่เพื่อให้รองรับความละเอียดสูงได้ เนื่องด้วยขนาดที่ใหญ่ คุณจึงอาจต้องใช้เวลามากกว่าในการประมวลผล แชร์ บันทึก และเปิดไฟล์ประเภทนี้ นอกจากนี้ ไฟล์ PNG ยังอาจทำให้หน้าเว็บโหลดได้ช้าลงอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผู้คนนิยมใช้ไฟล์ JPEG สำหรับภาพถ่ายบนโลกออนไลน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ไฟล์ PNG ก็มีแบบขนาด 8 บิต ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าให้เลือกใช้ แต่ไฟล์รูปแบบดังกล่าวสามารถรองรับสีได้เพียง 256 สีเท่านั้น
ส่วนไฟล์ SVG นั้นมีขนาดเล็กกว่า PNG มากนัก และไม่น่าจะทำให้คอมพิวเตอร์หรือเว็บไซต์ของคุณช้าลง (อย่างไรก็ตาม งานออกแบบที่มีรายละเอียดสูงมากอาจทำให้ไฟล์ SVG ทำงานช้าลงได้) เนื่องจากเป็นไฟล์รูปแบบเวกเตอร์ คุณจึงสามารถขยายหรือย่อไฟล์ SVG ได้โดยไม่ทำให้คุณภาพลดลง
การบีบอัด
ไฟล์ SVG ให้การบีบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูล ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถบีบอัดไฟล์ประเภทนี้ให้มีขนาดเล็กลงได้โดยไม่ต้องแลกกับความละเอียด รายละเอียด หรือคุณภาพของไฟล์
ไฟล์ PNG เองก็ให้ประโยชน์จากการบีบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูลในอัตราส่วน 5-20% ซึ่งสามารถช่วยชดเชยขนาดไฟล์ที่ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม ไฟล์ประเภทนี้ก็มักมีขนาดใหญ่กว่า SVG
การถ่ายภาพ
ไฟล์ PNG ไม่ใช่ตัวเลือกที่ใช้กันบ่อยนักสำหรับภาพถ่ายบนเว็บตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น อย่างไรก็ตาม ไฟล์ประเภทนี้ก็สามารถรองรับภาพถ่ายดิจิทัลคุณภาพสูงที่มีรายละเอียดมากเพื่อใช้ในการพิมพ์ แก้ไข หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้ และยังเป็นรูปแบบไฟล์ที่ใช้กันทั่วไปใน Adobe Photoshop อีกด้วย
ในทางกลับกัน ไฟล์ SVG ไม่ได้ใช้พิกเซล จึงมีปัญหาในการแสดงภาพถ่ายในระดับมาตรฐานที่สูง
การใช้งานบนเว็บ
ทั้งไฟล์ PNG และ SVG ต่างก็สามารถแสดงรายละเอียดในระดับที่ซับซ้อนสำหรับกราฟิกบนเว็บ ภาพประกอบ โลโก้ อินโฟกราฟิก และตารางได้
อย่างไรก็ตาม ไฟล์ SVG นั้นมีข้อได้เปรียบที่สำคัญจากภาษาโปรแกรม XML ซึ่งหมายความว่าไฟล์ SVG แต่ละไฟล์ที่แสดงบนหน้าจอนั้นถูกเขียนขึ้นเป็นข้อความ ไม่ใช่เป็นโค้ด ด้วยเหตุนี้ โปรแกรมอ่านจอภาพและโปรแกรมค้นหาจึงสามารถวิเคราะห์ไฟล์ได้ ไฟล์ SVG จึงเเหมาะสมกว่าหากวัตถุประสงค์ของคุณคือการทำให้ผู้คนเข้าถึงไฟล์ได้และปรับปรุง SEO
นอกจากนี้ ไฟล์ SVG โดยทั่วไปแล้วยังมีขนาดเล็กกว่า จึงโหลดบนหน้าเว็บได้เร็วกว่าด้วย ระยะเวลาการโหลดหน้าเว็บเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมากในการจัดอันดับของโปรแกรมค้นหา
ทั้งนี้ ไฟล์ PNG เองก็รองรับกราฟิกแบบข้อความบางส่วนเช่นกัน แต่ไม่รองรับมากเท่า SVG
ความเข้ากันได้และความซับซ้อน
SVG ถือเป็นประเภทไฟล์ที่ล้ำหน้ากว่า PNG แต่ไฟล์ประเภทนี้ก็เข้ากันกับเบราว์เซอร์และระบบปฏิบัติการไม่ได้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาโปรแกรมและองค์ประกอบแบบเวกเตอร์อาจทำให้ผู้ใช้รายใหม่ๆ รู้สึกไม่คุ้นเคยและหวาดกลัวที่จะใช้งานได้
ในทางกลับกัน PNG เป็นไฟล์รูปแบบมาตรฐานสำหรับโลกออนไลน์ที่เว็บเบราว์เซอร์และระบบปฏิบัติการต่างๆ ให้การรับรองอย่างแพร่หลาย
ภาพเคลื่อนไหว
ไฟล์ PNG ไม่รองรับภาพเคลื่อนไหว ต่างกับไฟล์รูปภาพแบบราสเตอร์ที่คล้ายกันอย่าง GIF
ส่วนไฟล์ SVG นั้นรองรับภาพเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่พร้อมที่จะรองรับเท่ากับไฟล์ประเภทอื่นๆ เช่น AI ซึ่งเป็นรูปแบบในระบบของ Adobe Illustrator
ความโปร่งใส
ไฟล์ PNG และ SVG รองรับความโปร่งใส ทั้งสองจึงเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับโลโก้และกราฟิกบนโลกออนไลน์
ทั้งนี้ คุณควรทราบว่าไฟล์ PNG เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับไฟล์โปร่งใสแบบราสเตอร์ หากคุณกำลังทำงานกับพิกเซลและความโปร่งใส ไฟล์ PNG ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า SVG
ฉันจะแปลงรูปภาพแบบราสเตอร์เป็น SVG ได้อย่างไร
หากต้องการแปลงไฟล์รูปภาพแบบราสเตอร์เช่น JPEG หรือ PNG ให้เป็น SVG ซึ่งเป็นไฟล์รูปภาพแบบเวกเตอร์ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้
- เปิด Adobe Illustrator
- คลิก File (ไฟล์) > Open (เปิด) แล้วเลือกรูปภาพจากในคอมพิวเตอร์
- คลิก Open (เปิด)
- คลิกตัวเลือก Trace (ลอกลาย) จากเมนูด้านบนและเลือก Image Trace (ลอกลายรูปภาพ)
- ปรับแต่งการแปลงไฟล์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่คุณต้องการ ทั้งนี้ การดำเนินการนี้อาจทำให้สีของรูปภาพเปลี่ยนไปได้
- หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ให้เลือกรูปภาพที่ทำการลอกลายแล้วคลิก Ungroup (ยกเลิกการจัดกลุ่ม) ซึ่งจะเป็นการแยกรูปทรงสีออกมา
- คลิก File (ไฟล์) > Export (ส่งออก)
- บันทึกไฟล์ของคุณเป็น SVG
ฉันจะแปลงไฟล์ SVG เป็น PNG ได้อย่างไร
ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้เพื่อแปลงไฟล์ SVG ของคุณให้กลายเป็น PNG โดยใช้ Adobe Photoshop
- เปิด Adobe Photoshop
- คลิก File (ไฟล์) > Open (เปิด)
- เลือกไฟล์ SVG จากในคอมพิวเตอร์
- คลิก Export (ส่งออก) > Export As (ส่งออกเป็น) > PNG
- บันทึกไฟล์ของคุณเป็น PNG